วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

D.I.Y.มาทำ “หน้ากากอนามัย” ใช้เองกันเถอะ

หลังการแพร่ระบาดรุนแรงของโรคไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ใหม่ 2009 จนส่งผลให้ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูงกว่า 20 ราย และมีผู้ติดเชื้อเฉียด 5,000 ราย แล้ว เริ่มส่งผลให้คนไทยตื่นตระหนกและหันมาป้องกันตัวเองตามการรณรงค์ของกระทรวง สาธารณสุข ด้วยการหมั่นล้างมือให้สะอาด และสวมหน้ากากอนามัย

และภายหลังการแห่ซื้อหน้ากากอนามัยของประชาชน ทำให้บางพื้นที่เกิดขาดแคลน ขาดตลาด หาซื้อไม่ได้ หรือที่ร้ายกว่านั้น คือ มีพ่อค้าหัวใสฉวยโอกาสขึ้นราคาหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะชนิดที่ทำด้วยกระดาษ ให้พุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว ทำให้ประชาชนจำนวนไม่น้อย ไม่สามารถซื้อหาหน้ากากอนามัยมาสวมเพื่อป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อได้

สำนักโรคอุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ออกแผ่นพับแนะนำวิธีการทำหน้ากากอนามัยใช้เองแบบง่ายๆ เพื่อเป็นทางเลือกแก่ประชาชนในการแก้ปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัย วิธีการทำก็ไม่ยุ่งยาก อุปกรณ์ที่ใช้ก็หาได้ในกล่องเย็บผ้าคุณแม่บ้านเป็นส่วนใหญ่ อาจจะมีต้องซื้อหาเพิ่มเล็กน้อย แต่ถ้าคิดแล้วสุดคุ้ม เพราะซื้อครั้งเดียวทำได้หลายชิ้น แถมซักนำกลับมาใช้ได้เรื่อยๆ ได้ทั้งประโยชน์ทางตรงคือประหยัดเงิน ได้หน้ากากหลายชิ้น สลับใช้ได้ ลดปัญหาการต้องซื้อของแพงและขาดตลาด แถมในทางอ้อมยังได้ช่วยลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ลดขยะในประเด็นของการใช้หน้ากากอนามัยกระดาษที่ต้องใช้แล้วทิ้ง เป็นการช่วยโลกร้อนไปพร้อมๆ กันได้อีกด้วย

อุปกรณ์ ที่ต้องใช้ ได้แก่ กรรไกรตัดผ้า, ด้ายและเข็ม, ผ้าฝ้าย หรือผ้ายืด หรือผ้าสาลูเนื้อแน่น กว้าง 6 นิ้วครึ่ง ยาว 7 นิ้วครึ่ง 2 ชิ้น และสุดท้ายที่ขาดไม่ได้คือยางยืดหรือไส้ไก่ยาว 7 นิ้วสำหรับทำหู 2 เส้น

...ทีนี้ก็ถึงเวลาลงมือทำกันแล้ว...

เริ่มด้วยการนำผ้าที่เตรียมไว้มาพับครึ่งตามความยาวผ้าแล้วพับจับ จีบทวิส 1 นิ้ว ตรงกลางผ้ากลัดด้วยหมุด หรือ เนาตรึงไว้ และ ทำอีกชิ้นเช่นเดียวกัน จากนั้นนำผ้าที่พับไว้มาวาง โดยหันด้านนอกขึ้น และนำยางยืดมาวางที่มุมผ้าด้านกว้างข้างบน และข้างล่าง ด้านละ 1 เส้น กลัดเข็มหมุด หรือ เนาตรึงไว้

ขั้นตอนต่อมานำผ้าที่พับไว้อีกชั้นมาวางซ้อนกับผ้าชิ้นแรกที่ตรึงยาง ยืดไว้ โดยหันผ้าด้านนอกชนกัน แล้วเย็บจักร หรือ ด้นถอยหลังรอบผ้าสี่เหลี่ยม ให้ห่างจากริมผ้า ด้านละครึ่งเซนติเมตร โดยเว้นช่องว่างไว้กลับตะเข็บ ประมาณ 1 นิ้ว และขลิบผ้าตรงมุมทั้ง 4 มุม ให้ใกล้กับรอยเย็บ เพื่อเวลากลับตะเข็บจะได้เรียบร้อยสวยงาม จากนั้นปิดท้ายด้วยสอยปิดช่องว่างที่เว้นไว้ให้เรียบร้อย เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำหน้ากากอนามัย

เห็นไหม...ไม่ยากเลย คุณหนูๆ ก็สามารถช่วยคุณพ่อคุณแม่ทำได้ แถมภูมิใจเมื่อสวมหน้ากากที่เป็นคนทำเองด้วย

ทีนี้ก็มาถึงวิธีการสวมหน้ากากให้ถูกวิธี เพื่อให้การใช้หน้ากากอนามัยป้องกันเชื้อโรคได้อย่างสูงสุดเต็มประสิทธิภาพ ก่อนอื่นต้องล้างมือให้สะอาดเสียก่อนใส่ จากนั้นใช้มือจับหูยางยืดสวมกับหูตัวเอง และดึงให้ส่วนที่เป็นหน้ากากคลุมจมูกและปากให้มิดชิด ปรับสายให้หน้ากากกระชับกับใบหน้า

และ เมื่อใช้เสร็จแล้ว การดูแลรักษาทำความสะอาดหลังใช้ก็เป็นเรื่องสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน หากเป็นกรณีของหน้ากากอนามัยกระดาษ ควรใช้ครั้งเดียวทิ้ง และทิ้งในถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด หากเป็นผ้าหลังจากใช้เสร็จความซักให้สะอาด และผึ่งแดดให้แห้ง สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้
วันอาทิตย์ที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

การหุงข้าว ด้วยกระบอกไม้ไผ่


การหุงข้าวมีอยู่ หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการหุงข้าวด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้า หรือการหุงข้าวด้วย เตาถ่านโดยการหุงข้าวแบบเช็ดน้ำและไม่เช็ดน้ำ ซึ่งแต่ละวิธีจะมีกระบวนการ ที่แตกต่างกัน ผลลัพธ์ที่ได้คือเราจะได้ข้าวสวยที่สุกน่ารับประทาน และยังมี การหุงข้าวอีกหนึ่งวิธีที่หลายๆ คนอาจจะยังไม่เคยได้สัมผัสหรือทดลองหุงซึ่ง เป็นการหุงข้าวที่น่าสนใจและได้ข้าวสวยสุกที่มีกลิ่นหอมน่ารับประทาน ซึ่ง วิธีการหุงวิธีจะทำการหุงข้าวด้วยกระบอกไม้ไผ่ ซึ่งมีวิธีการดังนี้


วัสดุ-อุปกรณ์ :
1.ข้าวสารเจ้า
2.กระบอกไม้ไผ่สด ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5 นิ้ว ขึ้นไป
** ทำการตัดกระบอกไม้ไผ่ความยาวด้านหนึ่งจากข้อไม้ไผ่ยาว 15 นิ้ว (ด้านที่ใช้สำหรับหุงข้าว) อีกด้านยาวประมาณ 5 นิ้ว **
3.ใบตอง ที่ใช้สำหรับห่อข้าวสาร
4.เชือกฟางหรือเชือกกล้วยที่ใช้สำหรับมัดใบตอง

ขั้นตอนการหุงข้าว :
1.ล้างทำความสะอาดกระบอกไม้ไผ่ให้สะอาด (ทั้งด้านในและด้านนอก)
2.นำข้าวสารมาซาว ล้างทำความสะอาดประมาณ 1-2 น้ำ
3.น้ำข้าวสารที่ซาวเรียบร้อยแล้ว มาห่อด้วยใบตองที่เราเตรียมไว้
** ลักษณะการห่อคล้ายกับการห่อข้าวต้มมัด ม้วนใบตองแล้วทำการปิดหัวปิดท้าย อย่าห่อให้แน่น ปริมาณข้าวสารที่ห่ออย่าให้มากจนเกินไปและ ขนาดของห่อข้าวควรจะเล็กกว่าขนาดของไม้ไผ่ เพราะจะง่ายต่อการใส่ห่อข้าวลงในกระบอกไม้ไผ่ ให้เหลือช่องว่างในกระบอกไม้ไผ่บ้างเผื่อพื้นที่เมื่อข้าวสุก **
4.ใช้เชือกมัดเพื่อป้องกันการหลุดของใบตอง
5. นำใบตองที่ห่อข้าวสารลงไปในกระบอกไม้ไผ่ ประมาณ 3 ห่อ
6.ให้เหลือพื้นที่ว่างจากบริเวณปากกระบอกประมาณ 4 นิ้ว
7.นำน้ำสะอาดใส่ลงในกระบอกไม้ไผ่ อย่าให้เต็ม ให้เหลือพื้นที่จากปากกระบอกประมาณ 2 นิ้ว
8.นำกระบอกไม้ไผ่ไปเผาบนกองไฟ โดยลักษณะการวางกระบอก คือ ตั้งตรง ต้องคอยระวังอย่าให้กระบอกไม้ไผ่ล้ม
9.สังเกตเมื่อน้ำเดือด รอเวลาประมาณ 20 นาที จากนั้นให้รินน้ำออก (คล้ายกับการหุงข้าวเช็ดน้ำ)
10.จากนั้นนำกระบอกไม้ไผ่ไปอังไฟอ่อนๆ ประมาณ 10 นาที
11.ผ่ากระบอกไม้ไผ่เพื่อนำข้าวมารับประทาน

ข้อดีของการหุงข้าวในกระบอกไม้ไผ่ :
1.ข้าวที่ได้จะมีกลิ่นหอมน่ารับประทาน
2.เหมาะสำหรับคนที่รับประทานข้าวได้น้อย ข้าวที่หุงจะง่ายต่อการรับประทาน
3.สามารถนำไปปรับใช้ในการเดินป่าได้

ขอบคุณผู้จัดการ